คลาวด์คอมพิวติ้งกับการปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์

2011-05-02
dr.jay jootar

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลาวด์คอมพิวติ้งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพลังที่มีอิทธิพลมหาศาลเปรียบเหมือนคลื่นซึนามิที่จะเปลี่ยนแปลงโลกแห่งข้อมูลข่าวสารรวมถึงโทรคมนาคมอย่างพลิกฝ่ามือแบบที่ไม่มีปรากฏการณ์ใดมาก่อน อาจจะเพราะสาเหตุนี้เองทำทุกคนต่างพยายามขอมีเอี่ยว ทุกเรียกสิ่งที่ตัวเองทำว่าเป็นคลาวด์ไปเสียหมดไม่ให้ตกเทรนด์ กลายเป็นว่านี่ก็คลาวด์ นั่นก็คลาวด์ โน่นก็คลาวด์ จนคำๆนี้กลายเป็นคำที่ใช้กันสับสนที่สุดในประวัติศาสตร์คอมพิวเตอร์ วันนี้เราจะมาตีแผ่และทำความเข้าใจคำๆนี้กันแบบง่ายๆสไตล์ Telecom 2.0กัน

คำว่าคลาวด์หมายถึงคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ในเครือข่าย เรามีคำๆนี้เพื่อให้เห็นว่ามันต่างจากคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ข้างหน้าเรา (หรือในมือเราถ้าเป็นสมาร์ทโฟน ซึ่งถือเป็นคอมพิวเตอร์เหมือนกัน) ที่เราจับได้ลูบคลำได้ คลาวด์คอมพิวติ้งโดยความหมายกว้างๆก็คือการใช้งานแบบที่ใช้คอมพิวเตอร์ที่อยู่กับเราร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่าย โดยมีความหมายเป็นนัยว่าเราแค่ต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ที่อยู่กับเราเท่านั้น ส่วนคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายเราไม่ต้องยุ่ง มีคนจัดหามาให้เราใช้นั่นเอง โดยส่วนใหญ่คอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครือข่ายนี้ถ้าไม่ฟรีเราก็จ่ายเบาๆเป็นรายเดือน ประหยัดทั้งเงินในการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เครือข่าย และค่าดูแลรักษาที่ตามมากับการเป็นเจ้าของเครื่อง

คลาวด์คอมพิวติ้งอาจจะหมายถึง Software as a Service (SaaS) ในความหมายนี้คือใช้ซอฟท์แวร์โดยใช้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อาจจะใช้ฟรีหรือจ่ายเงินเป็นเดือนๆไป ในลักษณะนี้ทำให้เราไม่ต้องเอาซอฟท์แวร์มาติดตั้งที่เครื่อง สามารถใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตเบราเซอร์ได้ ลักษณะของ Software as a Service ที่เราอาจจะใช้อยู่โดยไม่รู้ตัวเช่น Facebook, Hotmail, Gmail, Google Docs, Twitter, ฯลฯ (บางตัวเช่น Facebook, Twitterเราก็เรียกอีกชื่อว่า Social Media) ที่กล่าวถึงเป็นซอฟท์แวร์ที่เราใช้ฟรี โดยผู้ให้บริการได้รายได้จากการโฆษณาเป็นหลัก Google Docs นั้นเป็นตัวอย่างของซอฟท์แวร์ฟรีที่สามารถทำงานได้ในลักษณะเดียวกับ Word, Excel และด้วยความสามารถในการทำงานที่ดี เราเริ่มเห็น Microsoft เริ่มนำเอาซอฟท์แวร์ดังกล่าวมาให้บริการผ่านเว็บในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น เป็นเวทีแข่งขันอีกเวทีที่น่าจับตาดูเป็นอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังมีซอฟท์แวร์ที่ให้ใช้โดยคิดค่าบริการ ตัวที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายที่สุดคือ Salesforce.com ซึ่งเป็นคนบุกเบิกตลาดนี้มายาวนาน และตลาดก็เรียกการให้บริการลักษณะนี้ด้วยชื่อต่างๆ ตั้งแต่ Application Service Provider (ชื่อเก่ามากๆ), Software as a Service (SaaS), จนมาถึงคลาวด์คอมพิวติ้ง ส่วนในเมืองไทยมีผู้ให้บริการในลักษณะ store front เช่น tarad.com และ weloveshopping.com ที่อาจจะถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ล่าสุดไมโครซอฟท์ก็เข้ามาจับมือกับกลุ่มทรูเพื่อให้บริการแอพพลิเคชั่นของไมโครซอฟท์ผ่านในโมเด็ล Software-as-a Service ในประเทศไทย

การใช้ซอฟท์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ตเบราวเซอร์ยังมีชื่อที่นิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งคือ Web 2.0 หรือบริการที่ต่อยอดจากWeb 1.0 ซึ่งก็คือการใช้เว็บในยุคแรกเริ่ม โดยสำหรับ Web 1.0 ลักษณะการใช้เหมือนนิตยสารออนไลน์ คือมีผู้เขียนแล้วก็มีผู้อ่าน ส่วน Web 2.0 นี่คนเข้ามาใช้ทั้งเขียนและอ่าน คือผู้ใช้เป็นคนสร้างคอนเทนท์ขึ้นด้วย ตัวอย่างที่ชัดที่สุดคือ Facebook, Twitter ซึ่งผู้เข้ามาใช้เป็นคนเขียนข้อความ โพสต์รูปต่างๆ หรือบ้านเราคือ Pantip.com ซึ่งโดยคอนเซ็ปต์คือ Web 2.0 มาแต่แรกเริ่มคือเป็น user-generated content

คลาวด์คอมพิวติ้งยังอาจจะหมายถึง Infrastructure as a Service (IaaS) ในลักษณะนี้ผู้ใช้งานหลักจะเป็นธุรกิจมากกว่าผู้บริโภค เพื่อให้เห็นภาพอย่างให้ท่านผู้อ่านจินตนาการตามผมนะครับ ก่อนจะมีคลาวด์คอมพิวติ้งถ้าธุรกิจต้องการจัดหาเซิร์ฟเวอร์เพื่อมาใช้งานก็จะต้องซื้อคอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องๆ จัดหา Internet Data Center เพื่อจัดวางคอมพิวเตอร์ดังกล่าวในเครือข่ายภายใน หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จัดหาพนักงานมาดูแลรักษาระบบให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง จ่ายเงินค่าไฟค่าเช่าค่าอะไหล่ต่างๆ เป็นเรื่องที่ปวดหัวและไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

บริการ Infrastructure as a Service คือบริการที่ช่วยลดความยุ่งยากในการจัดหาเซิร์ฟเวอร์ดังกล่าว การใช้งานง่ายถึงขนาดที่ว่าเมื่อไรที่ต้องการเซิร์ฟเวอร์ก็เข้าไปที่หน้าเว็บกำหนดสเป็คเครื่องได้เลย CPU, RAM, HardDisk เลือกเสร็จกดปุ่มสร้างเซิร์ฟเวอร์ รอหนึ่งนาทีจะมีเซิร์ฟเวอร์รอให้เราสามารถนำไปใช้งานได้ทันที การสร้างเซิร์ฟเวอร์ไม่ต้องสร้างเผื่อเหมือนในกรณีการจัดหาฮาร์ดแวร์มาเอง ถ้าต้องการเพิ่มสเป็คก็เข้าไปกำหนดที่หน้าเว็บ รออีกหนึ่งนาทีก็เหมือนอัพเกรดเซิร์ฟเวอร์เดิมตามสเป็คใหม่ทันที จ่ายเงินเป็นแบบรายเดือน หรือในบางกรณีเป็นรายชั่วโมง ไม่ต้องเสียเงินมากๆเหมือนการซื้อฮาร์ดแวร์ ถ้าใช้ไม่นานหลังจากใช้เสร็จก็บอกเลิกการใช้ได้ ไม่ต้องจ่ายเงินต่ออีกเลย

บริษัทที่บุกเบิกตลาด Infrastructure as a Service คือ Amazon.com ครับอ่านไม่ผิดครับเว็บไซต์ขายหนังสือนั่นแหละครับ แรกเริ่มก็ใช้ภายในก่อนเพราะ Amazon.com ต้องพร้อมขยายเซิร์ฟเวอร์ให้รองรับผู้ใช้งานที่มีจำนวนมหาศาลได้ทำให้ต้องพัฒนาเทคโนโลยีนี้ขึ้นมาใช้ภายใน แต่หลังจากทำเองกินเองซักพักก็เริ่มเห็นว่าตลาดก็มีความต้องการจึงเริ่มนำบริการในลักษณะดังกล่าวออกมาทำตลาดซึ่งก็เป็นที่นิยมอย่างมากมายจนคู่แข่งทั้งผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ต่างเริ่งสปีดเพื่อเข้ามาแย่งชิงตลาดนี้กันถ้วนหน้า

ในเมืองไทยเองมีผู้ให้บริการ hosting หลายรายที่ให้บริการในลักษณะคล้ายๆกันโดยใช้เทคโนโลยี VPS (Virtual Private Server) ซึ่งพูดง่ายๆว่าเป็นน้องๆ Amazonแต่ในลักษณะที่เหมือนกับ Amazon.com ที่ใช้เทคโนโลยี VM (Virtual Machine) ซึ่งครบเครื่องมากกว่าเท่าที่ทราบมีบริษัทเพาเวอร์ ออลล์ ซึ่งร่วมเป็นพันธมิตรกับทรู ไอดีซี ให้บริการในชื่อว่าแอสเพ็น คลาวด์ เซอร์วิส (Aspen Cloud Service) ซึ่งเป็นบริการแบบเดียวกับ Amazon.com แต่โตมาจากตลาดจีนซึ่งก็เป็นตลาดที่คึกคักในเรื่องของคลาวด์เช่นเดียวกัน

นอกจาก SaaSและ IaaS ก็ยังมี Platform-as-a-Service (PaaS) ซึ่งพูดง่ายๆว่าอยู่กึ่งกลางระหว่างสองตัวแรก ในลักษณะนี้เป็นการให้บริการซึ่งมี Infrastructure คือเซิร์ฟเวอร์รองรับอยู่เป็นพื้นฐาน แต่ต่อยอดเพิ่มเอาซอฟท์แวร์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นเป็นซอฟท์แวร์สำเร็จรูปเหมือน SaaS ตัวอย่างของ PaaS ที่เด่นชัดที่สุดคือ AppEngine โดย Google ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้นักพัฒนาสามารถใช้ไลบรารี่และเฟรมเวอร์กต่างๆของ Google ไม่ว่าจะเป็น Google search, Google maps, ฯลฯ ในการพัฒนาเว็บแอพพลิเคชั่นได้โดยไม่ต้องพัฒนาขึ้นมาเองทั้งหมด

จากที่กล่าวมาทั้งหมดท่านผู้อ่านคงพอมองเห็นว่าธุรกิจบ้านเราจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการนำเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งมาใช้งาน เทคโนโลยีนี้จะช่วยประหยัดต้นทุนทางด้านคอมพิวเตอร์ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ และบุคคลากร โดยลดความวุ่นวายและปวดหัวตั้งแต่เรื่องการจัดการ ติดตั้ง การบำรุงรักษา และการปรับปรุงอัพเกรดต่างๆ ธุรกิจที่เป็นผู้ใช้ User จะประหยัดทรัพยากรต่างๆได้อย่างมาก ธุรกิจที่เป็นผู้พัฒนาซอฟท์แวร์ก็จะลดต้นทุนในการพัฒนาไปด้วยเช่นเดียวกัน ถ้าท่านผู้อ่านยังไม่ได้ศึกษาเรื่องคลาวด์คอมพิวติ้ง วันนี้ผมเชิญชวนให้ท่านลองศึกษาและนำมาใช้ดูครับ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในระดับส่วนตัวและระดับธุรกิจของท่านเลยทีเดียว

บทความจาก Telecom Journal