มาทำความรู้จักกับ HIS หรือ "Operating System" ของโรงพยาบาลกัน

2018-08-28

เมื่อพูดถึง Operating System ทุกคนรู้จักกันว่าเป็นระบบซอฟท์แวร์ที่ทำให้อุปกรณ์รอบตัวเราทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แม้กระทั่งอุปกรณ์อย่างทีวี

Operating System ของอุปกรณ์มีอยู่หลายยี่ห้อ ที่เราคุ้นๆกันอยู่ก็เช่น Windows, macOS, และ Linux Distributions สำหรับคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ้ค Android และ iOS สำหรับอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต

ใครจะรู้บ้างว่าไม่ใช่แค่อุปกรณ์เท่านั้นที่ต้องมี Operating System แต่โรงพยาบาลเองก็ต้องมี Operating System ถึงจะสามารถให้บริการกับผู้ป่วยได้ โดย Operating System สำหรับโรงพยาบาลเราเรียกกันว่า Hospital Information System (HIS) หรือในบางประเทศอาจจะรู้จักกันในชื่อของโมดูลย่อยๆบางตัวของ HIS เช่น Electronic Medical Records (EMR), CPOE, เป็นต้น

HIS นี้ในเนื้อแท้แล้วเป็น Applications เหมือน Applications อื่นๆที่เราใช้บนอุปกรณ์ต่างๆเช่น Microsoft Office, Adobe Photoshop สาเหตุที่ HIS ถูกมองว่าเป็น Operating System ของโรงพยาบาลเพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ใช้งานในแผนกต่างๆของโรงพยาบาลทำงานประสานกันเพื่อให้บริการผู้ป่วยได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนใหญ่เราไปรับบริการที่โรงพยาบาลก็มักจะไปที่แผนกเวชระเบียนเพื่อลงทะเบียนหรือเล่าอาการเบื้องต้น หลังจากนั้นก็ไปหาพยาบาลที่แผนกที่เกี่ยวข้อง พบแพทย์ จ่ายเงิน รับยา กลับบ้านเป็นต้น

ในลักษณะนี้ HIS ทำหน้าที่คล้ายกับ Operating System ของอุปกรณ์ที่เป็นตัวประสานให้ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น CPU, RAM, Storage, Screen, Keyboard/Touchscreen ทำงานร่วมกันเพื่อ "ให้บริการ" ผู้ใช้อุปกรณ์ให้ใช้งานได้อย่างราบรื่น ในกรณีของ HIS เป็นตัวประสานแผนกต่างๆ (เวชระเบียน พยาบาล เภสัช แพทย์ การเงิน ฯลฯ) เพื่อ "ให้บริการ" ผู้ป่วยที่มาขอรับบริการจากโรงพยาบาลได้อย่างราบรื่น

ในอดีตโรงพยาบาลส่วนใหญ่มักใช้กระดาษจำนวนมากเพื่อการสื่อสารระหว่างแผนกต่างๆเหล่านี้ แต่ในปัจจุบัน HIS คือซอฟท์แวร์ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานงานแผนกต่างๆเข้าด้วยกันเพื่อไม่ใช้กระดาษหรือใช้กระดาษให้น้อยลง ซึ่งไม่ใช่เพียงจะประหยัดต้นทุนกระดาษเท่านั้น แต่เพื่อลดความล่าช้าซึ่งเกิดจากการใช้กระดาษในการสื่อสาร โดยคอมพิวเตอร์สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่ามหาศาล และลดเวลาในการค้นหาข้อมูลกลับมาดูอีกครั้งเพื่อการแพทย์และอื่นๆ

พอพูดมาถึงจุดนี้หลายคนอาจจะบอกว่า "อ๋อ! HIS ก็คือ ERP ของโรงพยาบาลนั่นแหละ" จริงหรือไม่?

ERP หรือ Enterprise Resource Planning เป็นซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสต๊อกสินค้า บัญชี บริหารบุคลากร (HR) ในตลาดก็มีหลายยี่ห้อเช่น SAP, Oracle, Microsoft เป็นต้น

จริงๆแล้วจะมองว่า HIS คือ ERP ของโรงพยาบาลนั้น "ถูกแค่ครึ่งเดียว" สาเหตุเพราะในความเป็นจริงแล้วในโรงพยาบาลมักมี HIS และ ERP อยู่คู่กันและทำหน้าที่ช่วยเหลือกันเสมอ โดยมี HIS เป็น "พระเอก" ที่อยู่หน้ากล้อง หรือที่มักเรียกกันว่า "Front" โดยมี ERP เป็น "เบื้องหลัง" หรือเรียกกันว่า "Back" หรือ "Back-Office"

ในองค์กรทั่วไปที่มีการใช้ ERP ตัวอย่างที่เห็นง่ายที่สุดคือค้าปลีก จะมีการใช้ระบบ ERP คู่กับระบบที่เรียกว่า Point of Sale (POS) โดย POS เราจะเห็นที่บริเวณจ่ายตังค์ ดังนั้น POS ก็คืออุปกรณ์ที่ต่อกับเครื่องสแกนบาร์โค้ดเพื่อคิดเงินนั้นเอง ในกรณีของค้าปลีก POS คือระบบ "Front" ซึ่งในด้านค้าปลีก ข้อมูลส่วนใหญ๋ถูกบริหารจัดการโดย ERP ทั้งหมด โดยมี POS ทำหน้าที่แค่การจ่ายเงิน จึงกล่าวได้ว่าในกรณีของค้าปลีกมี "Front" บางๆ (ซึ่งก็คือ POS) สำหรับแผนกแคชเชียร์เท่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาล ระบบ HIS ซึ่งก็คือ "Front" ของโรงพยาบาลนั้นครอบคลุมแผนกทุกแผนกในโรงพยาบาล ตัวอย่างเช่น

  • เวชระเบียน

  • พยาบาล

  • แพทย์

  • เภสัช

  • การเงิน

  • วอร์ด (Ward)

  • ห้องผ่าตัด

  • ห้องคลอด

  • ห้องฉุกเฉิน

  • ห้องรังสีวิทยา (X-ray)

  • ห้องแลป

  • ฯลฯ

ซึ่งข้างบนนี่เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น ในบางแผนก HIS ทำงานควบคู่กับอุปกรณ์หรือระบบอื่นๆเพื่อรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยให้เข้ามารวมศูนย์เพื่อสะดวกในการวินิจฉัยและเก็บข้อมูล เช่นระบบวัด Vital Sign, ระบบ PACS (สำหรับ X-ray), ระบบ LIS (Laboratory Information System) ฯลฯ

ในกรณีของโรงพยาบางจึงเห็นได้ว่า HIS หรือระบบ "Front" นั้นทำหน้าที่ส่วนใหญ๋เกือบทั้งหมดในการให้บริการต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาล โดยเป็นระบบที่เชื่อมแผนกต่างๆให้ทำงานเข้าด้วยกันอย่างสอดประสาน โดยมี ERP ทำหน้าที่เป็น "Back" จัดการเรื่อง "หลังบ้าน" เช่นเรื่องจัดซื้อ บริหารสินค้าคงคลัง ลงบัญชี จัดการเรื่องเงินเดือน เป็นต้น

เมื่อเห็นภาพนี้แล้วจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไม HIS ถึงเปรียบเสมือน "Operating System" โรงพยาบาล และจะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลจะให้บริการได้ดีหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับ HIS เป็นอย่างมาก

ซึ่งความสำคัญของการออกแบบและพัฒนาระบบ HIS นี้ยังเปิดโอกาสให้เกิดอาชีพใหม่ๆแห่งอนาคตเช่น Hospital Platform Consultant ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านนี้ซึ่งจะเป็นอาชีพที่จะเป็นที่ต้องการอย่างมากในอนาคต

บริษัท มอร์ อิสเฮลท์ (Mor IsHealth) เป็นหนึ่งในบริษัทที่มุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพซึ่งรวมถึงการให้บริการในโรงพยาบาล และได้ทุ่มเทในการการพัฒนาระบบ HIS ให้มีความสะดวกคล่องตัวในการใช้งาน และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท

E-mail contact@mor.company