Skype กับโลก VoIP

2011-05-23
dr.jay jootar

ข่าวระดับโลกในวงการเทคโนโลยีเดือนนี้ที่น้อยคนจะพลาดคือข่าวการซื้อบริษัทสไกป์ (Skype) ผู้บุกเบิกและยักษ์ใหญ่ในบริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต (VoIP) ของไมโครซอฟท์ ด้วยมูลค่าถึง 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ สิ่งที่ทุกคนตั้งคำถามคือการซื้อครั้งนี้จะมีผลอย่างไรต่อทั้งสองบริษัท โดยเฉพาะถ้ามองย้อนอดีตการที่ สไกป์ถูกซื้อโดยอีเบย์ (eBay) ไปในราคาร่วม 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะขายทิ้งไปสองปีที่แล้ว เพราะซื้อไปแล้วก็หาทางนำไปเสริมธุรกิจหลักคือ online auction ไม่ได้ ไมโครซอฟท์จะเจอประวัติซ้ำรอยหรือไม่ วันนี้ผมจะใช้โอกาสข่าวร้อนๆนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังเรื่องโลก VoIP กันก่อน และหลังจากนั้นจะได้วิเคราะห์ดีลสไกป์/ไมโครซอฟท์ให้ท่านได้ฟังกัน

VoIP (Voice over Internet Protocol) คือเทคโนโยลีที่ทำให้สามารถส่งเสียงโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ เทคโนโลยีนี้มีมานานเป็นสิบยี่สิบปีแล้ว ปัจจุบันมีการพัฒนาจนคุณภาพและราคาดีพอที่จะนำมาใช้แทนเครือข่ายโทรศัพท์ได้ ประเด็นสำคัญที่ทำให้ VoIP มีความสำคัญคือการที่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นมีราคาถูกกว่าเครือข่ายโทรศัพท์มากหลายเท่า ทำให้ต้นทุนในการให้บริการโทรศัพท์ที่ใช้เทคโนโลยี VoIP นั้นต่ำลงกว่าการให้บริการแบบเดิมอย่างมาก นอกจากนี้การนำ VoIP มาใช้ในการให้บริการนั้นผู้ให้บริการไม่ต้องยกเครื่องเครือข่ายเดิมทั้งหมด แต่สามารถนำมาแทนที่เครือข่ายเดิมในส่วนใดก็ได้ตามที่สะดวก นั่นยิ่งทำให้การนำ VoIP มาใช้นั้นยิ่งน่าสนใจมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์ บริการโทรศัพท์ที่นำเทคโนโลยี VoIP มาใช้มีหลายรูปแบบดังต่อไปนี้

แบบแรกและเป็นแบบที่คนนึกถึงก่อนอื่นเวลาพูดถึง VoIP คือบริการในรูปแบบเหมือนสไกป์ ในลักษณะนี้ผู้ใช้นำคอมพิวเตอร์มาลงโปรแกรมที่เรียกว่า Softphone ซึ่งก็คือซอฟท์แวร์ที่ทำหน้าที่เหมือนโทรศัพท์นั้นเอง หลังจากลงโปรแกรมก็ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เพื่อนำรหัส (หรือ username) มาใส่ในโปรแกรมเพื่อใช้โทร ในลักษณะนี้ถ้าโทรระหว่างคอมพิวเตอร์ด้วยกันเองก็ฟรีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่ถ้าต้องการโทรออกไปยังโทรศัพท์มือถือหรือโทรศัพท์บ้านก็เติมเงินเข้าไปในบัญชีผู้ใช้ เมื่อใช้งานโทรออกเงินที่เติมไว้ก็จะถูกตัดไปตามปริมาณการใช้งาน ในลักษณะนี้โทรได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากสไกป์แล้วผู้ให้บริการในไทยมีให้บริการในลักษณะนี้อยู่หลายรายเช่น truenettalk.com, cat2call.com, totnetcall.com, mouthmun.com เป็นต้น ส่วนใหญ่ผู้ใช้งานในลักษณะนี้คือคนไทยที่อยู่ต่างประเทศอยากโทรกลับบ้าน การเติมเงินก็ให้คนที่อยู่เมืองไทยเติมเงินให้ บริการพวกนี้ราคาถูกมากจนน่ากลัว (น่ากลัวแทนผู้ให้บริการโทรศัพท์แบบเดิม) และในปัจจุบันสามารถใช้

Smartphone อย่าง iPhone, Android ในการใช้บริการได้ด้วยทำให้การใช้งานสะดวกคล่องตัวมากขึ้นทั้ง Skype และคู่แข่งหน้าใหม่ๆในโลก Smartphone อย่าง Viber

ประเภทที่สองคือการให้บริการในลักษณะของบัตรโทรศัพท์ต่างประเทศ หรือ International calling card การใช้บริการผู้ใช้ซื้อบัตรโทรศัพท์ตามช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆเช่น 7-11, ร้านหนังสือ, ฯลฯ เมื่อได้บัตรมาในบัตรจะระบุเบอร์ access number คือเบอร์กลางที่ใช้โทรเข้าไปเพื่อเข้าใช้ เมื่อผู้ใช้โทรเข้าไปใช้ก็จะมีระบบตอบรับบอกให้กรอกรหัสที่อยู่บนบัตรเพื่อยืนยันว่าซื้อมาแล้วจริง หลังจากยืนยันแล้วก็กดเบอร์ที่ต้องการโทรออก ส่วนใหญ่บริการลักษณะนี้โทรจากเมืองไทยออกไปต่างประเทศ ข้อดีคือราคาถูกกว่าการโทรต่างประเทศทั่วไป ข้อเสียคือการใช้งานมีหลายขั้นตอนยุ่งยาก ผู้ให้บริการหลายรายทำให้การใช้งานง่ายขึ้นเช่นการให้ระบบจำเบอร์ที่ผู้ใช้ใช้ในการโทรเข้ามา ทำให้การโทรหลังจากครั้งแรกไม่ต้องกรอกรหัส แค่กดเบอร์ที่ต้องการโทรออกเท่านั้น ตัวอย่างของบริการประเภทนี้เช่น thookdee.com, zayhi.com, CAT phonenet เป็นต้น

ประเภทที่สามคือการให้บริการโดยใช้อุปกรณ์เสริมแทนคอมพิวเตอร์ในประเภทแรก อุปกรณ์ดังกล่าวเรียกชื่อต่างๆกันไปเช่น ATA (Analog Telephone Adapter), IP Phone, IAD (Integrated Access Device) ในลักษณะนี้ใช้กันมากในกลุ่ม SME การใช้งานมีสองแบบ แบบแรกคือนำอุปกรณ์ที่มีรูปร่างลักษณะเหมือนโทรศัพท์ IP Phone มาแทนที่โทรศัพท์แบบเดิม แล้วยกหูโทรออกเลย อีกลักษณะคือเอาอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นอแดปเตอร์ (ATA, IAD) มาเชื่อมตู้สาขา (PBX) เพื่อโทรผ่านอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้งาน (พนักงานในบริษัท) บางครั้งไม่รู้ตัวว่าตัวเองใช้ VoIP อยู่เพราะเป็นการใช้งานผ่านเครื่องโทรศัพท์เหมือนปกติ แต่ไปตัดเข้า VoIP ที่ตู้สาขา ในต่างประเทศผู้ให้บริการต้นตำหรับคือ Vonage.com ซึ่งเน้นการประหยัดค่าโทรในประเทศ ( กรณีนี้คือสหรัฐฯ ) ผู้ให้บริการในบ้านเราที่ให้บริการในลักษณะนี้ส่วนใหญ่ก็คือผู้ให้บริการในประเภทแรก (แบบที่ใช้ Softphone ) นั่นเองและมีทั้งเน้นการโทรไปต่างประเทศและโทรภายในประเทศ

ประเภทที่สี่ที่จะกล่าวถึงคือการให้บริการโทรออกต่างประเทศผ่านรหัส 00x ตัวอย่างผู้ให้บริการในลักษณะนี้ไล่กันไปทีละตัวเลขได้เลยนะครับตั้งแต่ 001 ไปจนถึง 009 ซึ่งก็คือผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่เราคุ้นชื่อกันอยู่นั่นเอง โดยส่วนใหญ่ผู้ให้บริการเหล่านี้จะมีบริการอยู่สองตัว ตัวคุณภาพดีราคาแพง กับตัวคุณภาพย่อมราคาถูก บางรายมีสองรหัสให้ใช้ (001/009 ของ CAT) หลายรายใช้วิธีเติม 00 ต่อท้ายรหัสหลัก (เช่น 006/00600 ของทรู 005/00500 ของ AIS) เนื่องจากได้รหัสมาแค่อันเดียว โดยส่วนใหญ่บริการคุณภาพย่อมราคาถูกจะใช้เทคโนโลยี VoIP ในเครือข่ายส่วนที่เชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ ผู้ใช้โดยมากไม่ทราบว่าบริการที่ใช้จริงๆแล้วก็คือบริการ VoIP รูปแบบหนึ่งนั่งเอง

กลับมาถึงเรื่องดีลของไมโครซอฟท์กับ Skype นะครับ ก่อนอื่นจะขอเล่าก่อนว่า Skype นั้นถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการ VoIP และทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เป็นแรงกระตุ้นให้ยักษ์ใหญ่อย่าง ไมโครซอฟท์, กูเกิ้ล, และยาฮู ออกมาให้บริการในลักษณะเดียวกัน (ก่อนที่ไมโครซอฟท์จะกัดฟันซื้อสไกป์ไปด้วยราคาแพงโขอยู่) ผมเชื่อว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ในวงการออนไลน์ให้ความสำคัญกับบริการนี้ไม่ใช่เพราะมันจะมาแทนที่การให้บริการโทรศัพท์ซักเท่าไร แต่เป็นเพราะบริการลักษณะนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญของ Social Network เนื่องจากมันอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในลักษณะที่ไปเสริมบริการใน Social Network อื่นๆเช่น Instant Messenger (แบบ Live Messenger), Email (แบบ gmail), Profile (แบบ Facebook), Video (แบบ Youtube), ฯลฯ

ถ้ามองในแง่การนำ Skype เข้าไปเสริมธุรกิจของไมโครซอฟท์นั้น มองอย่างเร็วๆอาจจะมองได้ใน 3 ธุรกิจหลักคือ Xbox, Windows Phone, และ Outlook สำหรับ Xbox ซึ่งปัจจุบันกำลังขายกันอย่างถล่มทลายด้วยความยอดนิยมของ Kinect ซึ่งเป็นอุปกรณ์เสริมของ Xbox ที่ทำให้สามารถเล่นเกมโดยไม่ต้องมี Joystick หรืออุปกรณ์อื่นใด ใช้เทคโนโลยี Motion sensing ทำให้ขยับไม้ขยับมือก็สามารถควบคุมตัวละครในเกมได้ สำหรับ Xbox แล้วการมี Skype อาจจะหมายถึงการทำให้ผู้เล่นสามารถส่งเสียงคุยกันผ่านอินเทอร์เน็ตทำให้เกมมีความเป็น Social Media มากยิ่งขึ้นและอาจจะเพิ่มความนิยมให้กับ Xbox มากขึ้นไปอีก สำหรับ Windows Phone นั้นการมี Skype อาจจะหมายถึงการที่ผู้ซื้อโทรศัพท์จะสามารถโทรผ่าน Skype ได้โดยไม่ต้องผ่านบริการโทรศัพท์แบบเดิม และการนำ Skype เข้าไปรวมกับ Outlook ก็หมายถึงการที่ผู้ใช้สามารถติดต่อสื่อสารกับคู่ค้าได้ด้วยเสียงด้วย แทนที่จะส่ง email กันผ่าน Outlook แบบเดิม

ที่ผมกล่าวถึงความเป็นไปได้ 3 ประการนั้นอย่างที่เรียนไปข้างต้นคือเป็นการมองอย่างเร็วๆ ถ้ามองกันอย่างลึกซึ้งแล้ว ส่วนตัวผมเห็นว่าทั้ง 3 แนวทางนั้นไม่ได้มีน้ำหนักเพียงพอในการทำให้ไมโครซอฟท์ต้องเสียเงินถึง 8.5 พันล้านเหรียญไปซื้อ Skype แต่อย่างใด ในแง่เทคโนโลยีนั้นไมโครซอฟท์สามารถนำเงิน 8.5 พันล้านไปลง VoIP เพื่อชิงความเป็นผู้นำแล้วนำมาใส่ในสินค้าและบริการของไมโครซอฟท์ทุกตัวได้อย่างไม่ยากเย็น หลายปีก่อน Skype อาจจะนำลิ่วในแง่เทคโนโลยี VoIP แต่ทุกวันนี้ความเป็นผู้นำไม่ได้ห่างไกลเหมือนอย่างที่เคยแล้ว เรียกได้ว่าวิ่งตามกันพอทันแบบสูสี ส่วนในแง่ของสมาชิกผู้ใช้งานนั้น Skype มีสมาชิกจำนวนมากก็จริงอยู่ แต่ก็เป็นคนที่ใช้งานฟรีเสียจำนวนมาก การที่สมาชิก Skype จะกระโดดมาซื้อ Xbox, Window Phone หรือ Outlook นั้นคงจะไม่สามารถคาดหวังกันได้มากนัก ที่แน่ๆคือคงไม่คุ้มเงิน 8.5 พ้นล้านแน่ๆ

ความคิดเห็นส่วนตัวของผมนั้นการที่ไมโครซอฟท์ต้องทุ่มทุนมาซื้อสไกป์นั้นมีเหตุผลที่มีน้ำหนักมากพอเพียงประการเดียวคือการกันไม่ให้กูเกิล เข้ามาซื้อ Skype เหตุผลอื่นอย่างดีก็เป็นแค่เหตุผลสนับสนุน หรืออย่างร้ายก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น ผมมองว่าโมเดลธุรกิจของ Skype ดูจะสอดคล้องและเสริมกับโมเดลธุรกิจของกูเกิลมากกว่าไมโครซอฟท์ ทำให้ หากกูเกิลได้ Skype ไปอาจจะกลายเป็นอาวุธที่ดีของกูเกิล และอาจจะทำให้กูเกิลนำมาห้ำหั่นกับไมโครซอฟท์ในตลาดต่างๆไม่ว่าจะเป็น Online ad (เป็นสื่อโฆษณาเพิ่มเติมจาก Search), Android (Mobile app), Google docs (เพิ่มเติมเรื่อง collaboration) ฯลฯ ก่อนหน้านี้กูเกิลเองก็มีการพูดคุยกับ Skype ในเรื่องการเข้ามาซื้อกิจการ Skype เช่นเดียวกัน ซึ่งก็น่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไมโครซอฟท์ต้องยอมกันฟันใช้เงินมหาศาลมาซื้อเพื่อให้แน่ใจว่าอาวุธร้ายแรงชิ้นนี้จะไม่ตกอยู่ในมือของคู่แข่ง

ถ้าเป็นเช่นนี้จริงเราในฐานะผู้ใช้ก็คงไม่สามารถคาดหวังได้มากว่า Skype หลังจากไมโครซอฟท์ซื้อไปจะแตกต่างมากมายจาก Skype ที่เราคุ้นเคยกันอยู่ ซึ่งก็คงไม่ใช้เรื่องแปลกเพราะ eBay ซึ่งเคยเป็นเจ้าของ Skype ก็แทบไม่ได้ทำอะไรกับ Skype เลย โดยสรุปแล้วดีลนี้คนที่น่าจะดีใจที่สุดก็คือผู้ถือหุ้นของ Skype ซึ่งสามารถดึงดูดยักษ์ใหญ่ให้นำเงินมาเทให้เป็นรายที่สองต่อจาก eBay และทำให้ผู้ถือหุ้นและพนักงาน (ซึ่งได้หุ้นของบริษัทเป็นค่าตอบแทน) ร่ำรวยไปตามๆกัน เห็นดีลนี้แล้วก็ได้แต่หวังว่าคนไทยจะได้มีโอกาสสร้างบริษัทแบบ Skype ให้ฝรั่งเอาเงินมาเทให้กับประเทศเล็กๆจนๆอย่างเรากันบ้างในอนาคตสักวันหนึ่งนะครับ

บทความนี้ได้มีการตีพิมพ์ใน Telecom Journal