โลกแห่ง Machine-to-Machine

2011-04-04
dr.jay jootar

ท่านผู้อ่านที่ติดตามเทรนด์เทคโนโลยีใหม่อาจจะเคยได้ชื่อ M2M หรือ Machine-to-Machine กันมาระยะหนึ่งแล้ว M2M ก็คือเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆสามารถส่งข้อมูลระหว่างกันเองได้ ความสำคัญของเทคโนโลยีตัวนี้ในแง่เศรษฐกิจคือจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มหาศาลในอนาคต มีการคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2014 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ M2M จะมีขนาดใหญ่ถึงหกหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณสองล้านล้านบาท นอกจากนี้ในอีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้าจะมีเครื่องที่ต่อกับเครือข่าย M2M ถึง 5 หมื่นล้านเครื่องซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันถึง 10 เท่า เมื่อ M2M มีขนาดและความสำคัญถึงขนาดนี้ในวันนี้เราจะมาตีประเด็นกันเรื่อง M2M เพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจกันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

กลไกการทำงานของ M2M นั้นเริ่มจากเครื่องที่มีตัววัด เซ็นเซอร์ หรือมีเตอร์ที่ใช้วัดค่าบางอย่างเช่นอุณหภูมิ ระดับสินค้าคงคลัง ซึ่งข้อมูลจะถูกส่งผ่านเครือข่ายโดยเครือข่ายที่ว่าอาจจะเป็นเครือข่ายไร้สาย เครือข่ายมีสาย หรือผสมกันก็ได้ โดยข้อมูลจะถูกส่งไปยังแอพพลิเคชั่นซึ่งทำหน้าที่แปลงข้อมูลดิบให้เป็นข้อมูลที่มีความหมายและใช้ในการตัดสินใจได้ การทำงานด้วยกลไกนี้ช่วยลดความยุ่งยากและต้นทุนในกระบวนการเก็บข้อมูลที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอได้อย่างมหาศาล และยังทำให้สามารถสร้างระบบที่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆได้อย่างทันท่วงที

ตัวอย่างหนึ่งการใช้งาน M2M คือระบบ Smart Grid ซึ่งเป็นระบบการวัดค่าการใช้งานไฟฟ้าโดยใช้เทคโนโลยี M2M ในการส่งค่าที่วัดได้ดังกล่าวมายังเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนกลางเพื่อประมวลผล ในปัจจุบันการวัดค่าการใช้งานไฟฟ้ายังใช้ระบบเดิมคือใช้คนไปอ่านค่ามิเตอร์ตามบ้าน และอาคารต่างๆ การวัดค่าไฟในลักษณะดังกล่าวมีต้นทุนในการดำเนินการสูง ทำให้การวัดไม่สามารถทำได้บ่อย เทคโนโลยี M2M ทำให้เราสามารถวัดค่าได้อย่างต่อเนื่องโดยมีต้นทุนที่ต่ำกว่าอย่างมาก และก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายๆทาง

ประโยชน์ที่เห็นได้ง่ายที่สุดคือการลดต้นทุนในการวัดค่ามิเตอร์ไฟเพื่อมาใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายที่ไปเก็บกับลูกค้า ซึ่งในลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่การไฟฟ้าต้องทำอยู่แล้วแต่จะสามารถทำได้ในต้นทุนที่ต่ำลงอย่างมากมาย

ระบบ Smart Grid ยังสามารถทำให้การให้บริการกับลูกค้าทันท่วงทีมากขึ้น ถ้าเรามีข้อมูลจากระบบ Smart Grid ผ่าน M2M เมื่อเกิดไฟดับหรือมีปัญหา ทางการไฟฟ้าจะรู้ได้ทันทีและสามารถส่งช่างออกไปได้โดยไม่ต้องรอให้ลูกค้าต้องโทรมาแจ้งปัญหา บนถนนเมื่อมีไฟดับการไฟฟ้าจะรู้ไดทันทีและสามารถส่งคนไปซ่อมได้โดยไม่ต้องรอให้ผู้ขับขี่รถหรือเจ้าหน้าที่แจ้งเข้ามา ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากทัศนวิสัยที่ไม่ดีเนื่องจากขาดแสงสว่างที่เพียงพอบนท้องถนน

นอกจากนี้ข้อมูลที่เก็บมาได้แบบ real-time นั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถเปิดผ่านระบบให้ลูกค้าสามารถเข้ามาดูเพื่อทำความเข้าใจรูปแบบการใช้พลังงานของตัวเองและวางแผนการใช้พลังงานได้อย่างเหมาะสม ท่านผู้อ่านบางคนอาจจะเคยสงสัยว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้แต่ละตัวนั้นมันกินไฟแค่ไหน แต่เดิมเราไม่มีทางที่จะรู้ข้อมูลดังกล่าวได้ แต่ถ้ามีข้อมูลจาก Smart Grid เราสามารถที่จะคาดการณ์ได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่นเราสามารถลองปิดการใช้งานเครื่องบางเครื่องที่เราสงสัยว่าจะกินไฟแล้วดูว่าสามารถประหยัดการใช้พลังงานได้เท่าใดเป็นต้น หรือหากมีการคิดราคาค่าไฟตามเวลาช่วง peak, off-peak ลูกค้าก็สามารถปรับการใช้งานในช่วงที่ราคาสูงแล้วเห็นผลได้ทันทีว่าทำให้ลดการใช้ไฟได้มากน้อยเพียงใด พูดง่ายๆคือข้อมูลจาก Smart Grid สามารถทำให้ทุกคนสามารถช่วยสังคมในการประหยัดไฟได้คนละไม้ละมือและทำได้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน ไม่ต้องรบกวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลต้องมารณรงค์เป็นครั้งคราวแบบปัจจุบัน

นอกจากระบบ Smart Grid แล้ว M2M ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้ในแทบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบำรุงรักษาอุปกรณ์ในอุตสาหกรรม, ด้านการคมนาคม ขนส่งและลอจิสติกส์ (ใช้ในรถเพื่อส่งตำแหน่ง GPS), ด้านการเกษตร (ใช้เครื่องวัดสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เช่น อุณหภูมิ, ความชื้น, แสงสว่าง), ด้านการควบคุมคลังสินค้า, ด้านการให้บริการนอกสถานที่ (field service), ด้านการสาธารณสุข (เครื่องวัดร่างกายผู้ป่วยและส่งมาประมวลผลยังส่วนกลาง เช่น อุณหภูมิ, คลื่นหัวใจ, ฯลฯ) ในอนาคตเทคโนโลยี M2M จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของพวกเราในทุกแง่มุม ในลักษณะเดียวกันหรืออาจจะมากกว่าการที่เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ามามีผลกับชีวิตประจำวันของพวกเราในทุกวันนี้

ตลาดของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับ M2M ในอนาคตนั้นมีขนาดมหาศาลเกินที่จะบรรยาย วิธีง่ายที่สุดที่จะให้เห็นภาพขอให้ท่านผู้อ่านมองไปรอบตัวท่านในขณะที่อ่านบทความนี้อยู่ ลองดูว่ารอบตัวท่านนั้นมีคนหรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์มากกว่ากันและมากกว่ากันกี่เท่า ถ้าท่านไม่ได้บังเอิญไปอ่านบทความนี้ในรถเมล์หรือรถไฟฟ้าผมค่อนข้างมั่นใจว่าคำตอบที่ได้คือมีเครื่องมากกว่าคน อย่างต่ำๆก็น่าจะ 5 เท่าหรืออาจจะถึง 10 เท่า ลองนึกภาพว่าถ้าทุกเครื่องมีอุปกรณ์สื่อสารที่ส่งผ่าน M2M จำนวน SIM ที่ใช้สำหรับเครื่องจะมากกว่าคนเพียงใด

ปัจจุบันมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่มากกว่า 5 พันล้านคนทั่วโลก สำหรับ M2M นั้น ณ วันนี้มีเครื่องที่ต่อกับเครือข่าย M2M อยู่ในหลักร้อยล้านเครื่องเท่านั้น แต่ถ้ามองในแง่การเติบโตของอุปกรณ์ที่เชื่อมกับเครือข่าย M2M นั้นเรียกว่าโตแบบทบทวีคูณ (exponential growth) ในทุกๆปี บริษัท อิริคสัน หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการสื่อสารแห่งประเทศสวีเดนประมาณการณ์ไว้ว่าในปี 2020 หรืออีกไม่ถึงสิบปีข้างหน้านั้นจะมีอุปกรณ์ที่ต่อกับเครือข่าย M2M ถึง 5หมื่นล้านเครื่อง หรือเป็น 10 เท่าของจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบัน ถ้ามองในแง่ของโอกาสทางธุรกิจแล้ว ตลาด M2M มีศักยภาพมหาศาล เทคโนโลยี M2M นี้จะเป็นตัวที่พลิกโฉมหน้าและเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั่วโลกเลยทีเดียว

โอกาสทางธุรกิจของ M2M นั้นมีอยู่หลายด้าน ด้านแรกสำหรับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายจะสามารถขยายการให้บริการจากการให้คนใช้ SIM คุยกันมาเป็นให้เครื่องใช้ SIM คุยกัน ข่าวดีก็คือจำนวนเครื่องที่คุยกันจะมีมากกว่าคนหลายเท่า ถึงแม้ปริมาณการใช้งานของเครื่องจะไม่มากเท่าคน (ในอนาคตต่อให้เครื่องจะฉลาดแค่ไหน ผมมั่นใจว่ามันคงไม่แอบนินทากันเองระหว่างเวลาทำงานครับ) แต่เมื่อคูณจำนวณเข้าไปแล้วจะเป็นเม็ดเงินที่มหาศาล

นอกจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้วยังมีโอกาสในด้านอื่นๆอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์วัดซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากในเทคโนโลยี M2M แอพพลิเคชั่นประมวลผลจากข้อมูลวัดที่ได้จากอุปกรณ์ หรือจะเป็นบริการ System Integration ที่นำชิ้นส่วนต่างๆมาต่อเข้ากันเป็นระบบให้กับลูกค้าเพื่อนำไปใช้งานในธุรกิจหรือส่วนตัว ซึ่งบริษัทหรือผู้เชี่ยวชาญอิเล็คทรอนิกส์ ซอฟท์แวร์แอพพลิเคชั่น และ System Integrator บ้านเราควรหันมาให้ความสนใจ M2M มากขึ้นเพราะเป็นตลาดใหญ่และมีศักยภาพอย่างมาก

ตบท้ายนี้เพื่อไม่ให้ท่านผู้อ่านต้องฝันค้าง ผมลืมบอกไปว่าเทคโนโลยี M2M นี้ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายอย่าง 3G กันเป็นหลัก เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะคิดกันไปไกลกว่านี้ มาช่วยกันผลักดันให้ 3G บ้านเราเกิดอย่างเต็มรูปแบบกันก่อนดีกว่าครับ

บทความนี้ได้มีการตีพิมพ์ใน Telecom Journal