HI-TECH STARTUP เมืองไทย ความฝัน หรือสิ่งที่เป็นไปได้? (ตอนที่ 2)

2012-06-24
dr.jay jootar

กลับมาอีกครั้งสำหรับบทความชุดนี้ที่เขียนตอน 1 เมื่อปีครึ่งที่แล้ว (10 ตุลาคม 2553) ต้องขอโทษครับที่หายไปเสียนาน

ช่วงนี้มีการริเริ่มในด้าน hi-tech startup จากคนไทยหลายๆท่าน ไม่ว่าจะเป็น คุณหนุ่ย กับ UniTV คุณภาวุธ กับZocialRank คุณกระทิงกับ Disruptive University

ส่วนบริษัทผมเอง Venture Catalyst ได้มีการร่วมมือในระดับ Joint Venture กับบริษัทชั้นนำหลายบริษัทตัวอย่างเช่นFoxconn ผู้ผลิต OEM iPhone, iPad ให้กับ Apple จนปัจจุบันเปลี่ยนมาเรียกกลุ่มบริษัทที่ถือหุ้นโดย Venture Catalyst รวมกันในชื่อของ The VC Group เพื่อให้เป็นเอกภาพในด้านภาพลักษณ์ขององค์กร (และประหยัดค่าพิมพ์นามบัตร!)

ทำให้คันไม้คันมืออยากเขียนบทความภาคต่อของบทความแรกมาแชร์ให้ผู้ที่สนใจเรื่อง hi-tech startups ได้อ่านกัน

ความเดิม

ขอท้าวความบทความที่หนึ่งผมเล่าเรื่องข้อจำกัดของการสร้าง hi-tech startup ในเมืองไทย ประเด็นหลักเป็นเรื่องของตลาดซึ่งมีขนาดเล็กหรือมีข้อจำกัดอื่นๆ (เช่นการละเมิดลิขสิทธิ์, ระบบใต้โต๊ะ) ไม่ว่าจะเป็นตลาด consumer hardware, consumer software, ตลาด SME, ตลาดหน่วยงานรัฐ

ไปๆมาตลาดในเมืองไทยที่ผมมองว่าน่าพอจะเป็นฐานในการสร้าง hi-tech startup เมืองไทยได้สำหรับผมมีแค่ตลาดธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีทุนหนาพอและมีความมั่นคงด้านการเงินพอที่จะทดลองนวัตรกรรมใหม่ๆได้โดยไม่ทำให้บริษัทต้องเชือด resource มาจากงานหลักที่ทำรายได้และกำไรอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีบริษัทที่มีขนาดเล็ก พูดง่ายๆคือองค์กรใหญ่น่าจะมีทุนทรัพย์พอที่จะเป็นฐานลูกค้าให้กับบริษัท hi-tech startups ได้มากกว่าตลาดกลุ่มอื่นๆในมุมมองของผม

หลายท่านคงสงสัยว่าบ้านอื่นเมืองอื่นโดยเฉพาะ Silicon Valley สหรัฐอเมริกา บริษัท startups ที่เห็นโด่งดังไม่เห็นจะขายให้องค์กรใหญ่ ส่วนใหญ่กลับเป็นบริษัทที่ขายของให้ consumer เสียด้วยซ้ำ เช่น facebook.com, google.com, Apple ทำไมเมืองไทยถึงต่างไป ?

จริงๆต้องตอบว่าสิ่งแวดล้อมสำหรับ hi-tech startups เมืองไทยเรามีสิ่งที่แตกต่างจากสหรัฐฯ อยู่มากทำให้กลยุทธ์ที่น่าจะได้ผลในการสร้าง hi-tech startups ในเมืองไทยอาจจะแตกต่างเป็นอย่างมากกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะเรื่องขนาดตลาดซึ่งของเรามีขนาดเล็กและมีปัญหาด้านอื่นๆอีกมาก ด้วยเหตุผลด้านขนาดตลาดทำให้ผมมองว่าตลาดองค์กรใหญ่เป็นตลาดที่เหมาะสมสำหรับhi-tech startups ที่มุ่งทำตลาดในประเทศเป็นหลัก (ซึ่งน่าจะเป็นส่วนใหญ่ของ hi-tech startups ไทย)

ในบทความนี้จะขยายความไปถึงกรณี hi-tech startups ไทยที่ยินดีไปบุกตลาดต่างประเทศซึ่งจะเปิดประตูไปสู่อีกโลกหนึ่งในแง่ธุรกิจ hi-tech startups ที่โกอินเตอร์ในลักษณะดังกล่าวอาจจะเหมาะกับกลุ่มตลาดอื่นๆนอกเหนือจากองค์กรใหญ่ได้ด้วย อย่างไรก็ดีมีข้อคิดเกี่ยวกับประเด็นอื่นๆนอกเหนือไปจากเรื่องกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วย (กรุณาอ่านต่อครับ)

สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้าง hi-tech startups ในสหรัฐฯ

  1. ตลาดขนาดใหญ่

สหรัฐฯมีประชากรมากกว่า 300 ล้านคน มีระดับรายได้ที่สูง มีกำลังซื้อสินค้าบริการใหม่ๆได้อย่างมากมาย ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ออกมาสามารถขายได้อย่างสะดวกในทุกรัฐเนื่องจากอยู่ภายใต้ระบบเศรษฐกิจเดียวกันไม่มีภาษีนำเข้าส่งออกระหว่างรัฐ คนในประเทศพูดภาษาเดียวกันการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทำได้อย่างสะดวกในทุกช่องทางการสื่อสาร

  1. สถาบันการเงิน (รวมถึง Venture Capital) ที่ให้โอกาส hi-tech startups

สถาบันการเงินตื่นตัวในการลงทุนในบริษัท hi-tech startups เนื่องจากมีโอกาสสูงในการทำกำไรจากการขายหุ้นเมื่อเข้าตลาด (IPO) แม้กระทั่งจะขายในลักษณะ Acquisition ก็มีโอกาสทำกำไรได้สูงเช่นเดียวกัน (instagram) Venture Capital, Angel investors, Private Equity ต่างกระตือรือร้นหาดาวดวงใหม่ (บริษัท hi-tech startups) และแย่งกันลงทุนในบริษัทดังกล่าวอย่างล้นหลาม

  1. สถาบันการศึกษาที่แข่งแกร่งด้าน technology

Stanford, Berkeley, MIT, CMU, etc. สถาบันดังกล่าวเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ดึงดูดมันสมองชั้นยอดของโลกมารวมอยู่ด้วยกัน เป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญสำหรับการตั้งบริษัท hi-tech startups

  1. ระบบกฎหมายที่เข้มแข็งในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเข่นลิขสิทธิ์ซอฟท์แวร์

ลองคิดดูว่าถ้าสหรัฐฯคนไปซื้อซอฟท์แวร์เถื่อนกันเหมือนในบ้านเราตอนนี้ไมโครซอฟท์คงไม่ได้มาถึงทุกวันนี้

  1. เครือข่ายการสื่อสาร (เช่น broadband, 3G-4G, fiber to home ฯลฯ) ที่ครอบคลุมและรวดเร็ว

บริการออนไลน์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น e-commerce, social network ต่างก็พึ่งพาเครือข่ายการสื่อสารที่ดีพร้อม การที่สหรัฐฯมีเครือข่ายที่พร้อมก็สามารถทำให้ hi-tech startups สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้กว้างขวาง สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ รายได้ค่าโฆษณาซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่ใช้บริการก็ได้รับผลดีไปด้วยเช่นเดียวกัน

หันมามองบ้านเรา

เป็นข่าวร้ายที่ทั้ง 5 อย่างนั้นส่วนใหญ่บ้านเราแทบจะไม่มีดีเลยสักอย่างเดียว ถ้าจะมีที่พอจะมีดีอยู่บ้างคือสถาบันการศึกษา ถึงจะไม่ world class ระดับ Stanford แต่เราก็ผลิตวิศวกรมีฝีมือดีออกมาบ้างแม้ปริมาณจะไม่มาก (ที่พูดได้เต็มปากเพราะสัมผัสวิศวกรไทยเก่งๆมาด้วยตัวเองแล้วมากมาย)

ส่วนเรื่องอื่นๆอีกสี่เรื่องถือว่าด้อยกว่าสหรัฐฯมาก ตลาดมีขนาดเล็กอย่างที่วิเคราะห์ไปในตอนที่ 1 นักลงทุนให้ความสนใจ hi-tech sector ค่อนข้างน้อย ไปเน้นหุ้น blue chip ลงทุนแนว value investment มากกว่า (ซึ่งก็ถือว่าเป็นวิธีลงทุนที่ดี Warren Buffet ก็ใช้วิธีนี้ แต่วิธีนี้ไม่ได้สนับสนุน hi-tech sector นัก) ระบบกฏหมายเรื่องทรัพย์สินทางปัญญายังไม่เข้มแข็งนัก และเครือข่ายการสื่อสารยังถกเถียงกันเรื่อง 3G (แบบที่ควรจะเป็นคือ 2.1 GHz) อยู่ในขณะที่คนอื่นเขาไป 4G กันหมดแล้ว

ถึงแม้จะด้อยกว่าเขาในทุกด้านแต่ก็ไม่ใช้ว่าสิ้นหวัง หลายประเทศที่พื้นดินไม่สมบูรณ์ (อิสราเอลเป็นต้น) ยังหาเทคนิควิธีต่างๆปลูกพืชจนได้ ประเทศเราไม่มีปัจจัยสนับสนุน hi-tech แต่ก็น่าจะมีวิธีในการสนับสนุนให้เกิดขึ้นมากันจนได้ อย่างไรก็ดีผมคิดว่าวิธีทำให้ hi-tech startups เกิดในบ้านเรานั้นจะไปลอกเอากลยุทธ์ของ hi-tech startups ในสหรัฐฯมาทั้งดุ้นเลยนั้นคงจะยากอยู่ อย่างที่เห็นว่าสภาพแวดล้อมนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง (Disruptive University โดยคุณกระทิงน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการผสมผสานวิธีที่เหมาะให้เข้ากับบ้านเรา เนื่องจากเจ้าตัวมีประสบการณ์ทั้งที่บ้านเราและที่ Silicon Valley เจ้าตำหรับ)

มาเข้าประเด็นกันเลย ผมคิดว่ากลยุทธ์ที่เราน่าจะใช้น่าจะมีหัวข้อใหญ่ 5 ข้อดังต่อไปนี้นะครับ

1. เลือก Product Market ที่ยังใหม่ ยังไม่ถูก dominate โดย big player

ตัวอย่าง UniTV ถือว่า target ตลาด Smart TV box ที่ยังค่อนข้างเริ่มต้น ยังไม่เป็น red ocean เหมือน tablet และ smart phone ส่วน ZocialRank เป็น analytics ที่น่าจะมีประโยชน์กับธุรกิจก็เป็นตลาดที่กำลังจะเริ่ม take off อย่างไรก็ดีทั้งสองเจ้าก็ต้องระวัง big brother จะเข้ามาทุบตลาดในอนาคต ต้องหาจุดขายให้ชัดเจนแล้วเร่งมือสร้างความแข็งแกร่งนำหน้าไปอย่างรวดเร็ว

2. ใช้ตลาดไทยเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น ต้องวางแผน regional market อย่างจริงจังตั้งแต่วันแรก

ถ้าไม่วางแผนไว้แต่แรกโอกาสที่ product จะกลายเป็น local แทนที่จะเป็น regional มีสูงมาก และอย่างที่ผมวิเคราะห์เอาไว้นะครับว่าตลาด local คือตลาดในประเทศนั้นเล็กเกินไป ถ้าจะหวังแค่นี้โอกาสไปต่อจะยากโขอยู่ เพราะฉะนั้นอย่างน้อยควรจะมี regional ambition หรือถ้าให้ดีควรจะเป็น global ambition ไปเลยถ้ามีแรงพอ ZocialRank คุณภาวุธประกาศชัดว่ามี regional ambition อย่างนี้ถือว่าดีครับ

ในแง่ของการออกตลาดต่างประเทศ ผมแนะนำให้ leverage พันธมิตรต่างชาติให้ได้มากที่สุดในการขยายตลาดออกนอกประเทศ จริงอยู่ถ้ามีทุนหนาจะไปตั้ง office ต่างประเทศเลยก็ทำได้ แต่ผมเชื่อในเรื่องของพันธมิตรว่าเป็นวิธีขยายตลาดที่เร็ว ประหยัดต้นทุน และลดความเสี่ยง สิ่งสำคัญคือเลือกพันธมิตรให้เป็น ซึ่งก็เลือกยากพอๆกับเลือกคู่ครองนั้นแหละครับ มีดวงประกอบด้วย ไม่ใช่ฝีมือแค่อย่างเดียว

3. พยายามทำธุรกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามากนัก

ผมเชื่อว่าประเทศส่วนใหญ่ใน region นี้ก็มีปัญหาคล้ายบ้านเราคือเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ถ้าจะรอให้ระบบกฏหมายทุกประเทศที่เราจะเข้าไปสมบูรณ์ก่อนคงต้องรอไปอีกนานครับ ควรออกแบบ business model ให้ไม่ต้องพึ่งพาทรัพย์สินทางปัญญาให้มากจนเกินไป ลักษณะแบบ shrink-wrapped software เสี่ยงมากครับก้อปกันได้ง่ายๆ smartphone app ถ้าจะทำควรจะมี secret sauce อยุ่ใน back-end ให้มาก เพราะตัว app ถึงจะมี app store แต่ก็ก้อปกันได้เช่นกัน (ไม่เชื่อไปเดินแถว fortune ดู) อุปกรณ์แบบ appliance ก้อปได้ไม่ง่ายนักในแง่นี้้ก็ถือว่าผ่าน

4. ทำธุรกิจที่เริ่มจาก scale ไม่ต้องใหญ่มากได้

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วจะดีมากถ้า business model สามารถเริ่มจาก scale ที่ขนาดไม่ใหญ่มากได้เนื่องจากสามารถทำตลาดภายในประเทศได้ก่อนแล้วขยายออกต่างประเทศในภายหลัง ธุรกิจประเภทที่ต้องคาดหวังลูกค้าจำนวนมหาศาลเพียงเพื่อ breakeven ดูแล้วอาจจะลำบากสักหน่อยสำหรับสภาพแวดล้อมบ้านเรา มีข้อกเว้นถ้ามีพันธมิตรแกร่งที่สามารถเข้าตลาดขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วก็อาจะสามารถทำได้

5. ทำธุรกิจที่มี recurring revenue และ profit ระหว่างดำเนินการไปด้วย

ในข้อนี้หมายถึงว่าแทนที่จะทำธุรกิจที่ไม่มีเงินเข้ามาเลยโดยรอคนมาซื้อบริษัทอย่างเดียวเหมือนในสหรัฐฯ อาจจะเป็นวิธีที่เสี่ยงมากเกินไปสำหรับสภาพแวดล้อมบ้านเรา น่าจะพยายามทำธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ระหว่างทางได้ด้วย เรียกได้ว่าไม่ต้องพึ่งคนมาซื้อบริษัทแค่อย่างเดียว ถึงจะไม่มีคนมาซื้อก็สามารถสร้าง cashflow มาหล่อเลี้ยงบริษัทได้ด้วย มีข้อยกเว้นในกรณีมีทุนหนาสามารถรอได้เป็นหลายๆปีก็อาจจะไม่สนใจ profit ในระยะสั้นได้ อย่างไรก็ดีความเห็นผมคือถ้าสามารถสร้างรายได้ได้ในระหว่างดำเนินการก็เป็นสิ่งที่น่าจะทำ

ธุรกิจบางประเภทเช่น e-commerce และ web portal มี exit strategy หลักคือการถูก acquire โดยผู้เล่นรายใหญ่จากต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น sanook.com (ซื้อไปโดย MIH) tarad.com (Rakuten) สองเจ้านี้และแทบจะทุกรายที่ประสบความสำเร็จในการถูก acquire ล้วนแล้วแต่มีรายได้และกำไรในการดำเนินการก่อนถูกซื้อไป สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองด้วย ถ้ามีแต่ขาดทุนตลอดหวังแต่ว่าจะมีคนมาซื้อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ acquirer ก็จะมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าในการต่อรองราคาซื้อ ดังนั้นข้อคิดสำหรับคนที่กำลังคิดจะปั้น hi-tech startups ถึงจะวางแผนว่าจะขายบริษัทในท้ายที่สุดก็ตามควรจะพยายามอยู่ให้ได้ด้วยลำแข้งตัวเอง (ในแง่การเงิน) มิฉะนั้นจะไม่มีอำนาจต่อรองอะไรเลยกับคนที่เข้ามาซื้อ (คือไม่ขายก็อยู่ต่อไม่ได้นั่นเอง)